ผู้เขียน: neeranan

โครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนสายสามัญ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง และสตูลนั้น ต้องคำนึงถึงบริบทอย่างรอบด้าน กล่าวคือ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทำให้มีวิถีชีวิตเฉพาะของท้องถิ่นอย่างมาก โรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีคะแนนการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ และผลประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาอยู่ในระดับพอใช้

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและสื่อ เพื่อการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าว จึงริเริ่มดำเนินพัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพครูและบุคลากรทาง การศึกษาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์และพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน

ผลผลิตของโครงการ

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนสายสามัญ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง และสตูล จำนวน 60 โรงเรียน ได้รับการพัฒนาจาก สสวท.

วิธีการดำเนินงาน

  1. จัดทำร่างหลักสูตรอบรมครู
  2. ประชุมพิจารณาร่างหลักสูตรอบรมครู
  3. จัดทำต้นฉบับเอกสารอบรมครู
  4. ประชุมเตรียมวิทยากรแกนนำ
  5. ประชุมปฏิบัติอบรมครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนสายสามัญ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้
    สสวท. อบรมครูโดยตรง (2554-2556)
    สสวท. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อบรมครู (2558-2559)
  6. สรุปผลการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาครูโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีความรู้ และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น

สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร จ.น่าน จ.สกลนคร จ.ตาก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอน ให้แก่ครูผู้สอนโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลผลิตของโครงการ

โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร จ.น่าน จ.สกลนคร จ.ตาก (สังกัด สพฐ.) ได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้

  1. โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.น่าน เขต 2 30 โรงเรียน

  2. โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.สกลนคร เขต 1,2 29 โรงเรียน

  3. โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.ตาก เขต 2 40 โรงเรียน
    รวม 99 โรงเรียน

โครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีความรู้ และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น

สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอน ให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลผลิตของโครงการ

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้

  1. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11-14 45 โรงเรียน
  2. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21-24 48 โรงเรียน
  3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31-34 71 โรงเรียน
  4. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41-44 42 โรงเรียน
    รวม 206 โรงเรียน

โครงการพัฒนาครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  และเทคโนโลยี  มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  และเทคโนโลยีให้มีความรู้  และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น

สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  และเทคโนโลยี  ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา ภาคเหนือและ จ.ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  และสื่อการเรียนการสอน  ให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  และเทคโนโลยี  และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลผลิตของโครงการ

โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) ได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้

  1. โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 6  (น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย) 60 โรงเรียน
  2. โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 5 (เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) 41 โรงเรียน
  3. โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 11 (จ.ศรีสะเกษ) 10  โรงเรียน
    รวม 111 โรงเรียน

โครงการจัดทำสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริว่า ปัจจุบันสภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กมีความยากลำบากหลายประการ เป็นต้นว่า นักเรียนมีพื้นฐานค่อนข้างต่ำ ขาดเป้าหมายทางการเรียน มีครูไม่ครบชั้น มีการย้ายครูบ่อย  ครูขาดประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้  สื่อการเรียนการสอนไม่พอเพียง ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  นักเรียนอ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  คิดคำนวณไม่ได้มีอัตราสูง

ทั้งยังมีนักเรียนที่ต้องออกกลางคันในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีแนวพระราชดำริให้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น  ในวโรกาสที่จะเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ปี พ.ศ. 2558 นี้ มีพระราชประสงค์ให้จัดทำชุดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิชาหลักและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน  สำหรับชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น  สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เล็งเห็นว่า สสวท. เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตรและการพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงได้ขอความร่วมมือในการจัดทำชุดการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อให้มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนำทูลเกล้าถวายต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป

ผลผลิตของโครงการ

ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น เพื่อพัฒนาให้นักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติ ประกอบด้วยดังนี้

  1. ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 2 ช่วงชั้น ดังนี้
    ช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 1 ชุด
    ช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 1 ชุด
  2. ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 2 ช่วงชั้น ดังนี้
    ช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 1 ชุด
    ช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 1 ชุด

โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และกลุ่มบริษัทบีกริมส์ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับปฐมวัยตามแนวทางโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โดย สสวท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ และมีทักษะพื้นฐานที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทยในการพัฒนาผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Networks) และวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น (Local Trainers) เพื่อให้วิทยากรเหล่านี้เป็นแกนหลักในการขยายผลการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามแนวทางของโครงการให้แก่ครูปฐมวัยในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางโครงการจึงได้ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น และยังเปิดโอกาสให้วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นได้แลกเปลี่ยนความรู้และจัดกิจกรรมวิชาการในงานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย อีกทั้งได้มีการจัดพิธีรับตราพระราชทานเพื่อให้ครูที่มีผลงานผ่านเกณฑ์ได้มารับตราบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ภาพ : การอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยสำหรับวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นจากโรงเรียนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล และพัทลุง)

© Copyright PSProject , All rights reserved.  | Web Developed by ColorPack Creations Co., Ltd.