เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดอุทัยธานี โดยเริ่มจากการสนับสนุนให้โรงเรียนอุทัยวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมของจังหวัดให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อเป็นแกนนำในการช่วยเหลือสถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป
ในการนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) จึงได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท นานมีบุ๊ค จำกัด สนองแนวพระราชดำริฯ โดยจะนำการศึกษาแบบ STEM Education มาเป็นแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในโรงเรียนโดยเชื่อมโยงกับบริบทของชีวิตและสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งดำเนินโครงการผ่านกิจกรรมต่าง เช่น การจุดประกายการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยโครงการ MINI PHAENOMENTA การพัฒนาการสอนตามแนวทางของ STEM Education การพัฒนาศักยภาพด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน และกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

โดยศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 นี้ ศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ สสวท. ได้จัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ดำเนินการจัดการอบรมครูในโครงการโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 58 ณ โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี โดยมีครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เข้าร่วมจำนวน 86 คน จากโรงเรียนในจังหวัดอุทัยธานีจำนวน 20 โรงเรียน
- เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนและปรึกษาหารือในการเตรียมการรับเสด็จฯ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการวิทยาศาสตร์ ณ โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2559
- เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ
พระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการวิทยาศาสตร์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ณ โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี
- เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการนำเสนอผลงานวิชาการ Symposium STEM Education ณ โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี ในวันที่ 13 กันยายน 2559


เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นโครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในครั้งนั้นได้รับการขยายผลมาจากโครงการมหาวิทยาลัยเด็กจากห้องปฏิบัติการทอยโทแล็บ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง


โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย สสวท. สวทช. และมหาวิทยาลัย เครือข่าย 18 มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการลงมือปฏิบัติและการฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์
ผลผลิตของโครงการ
ผลผลิตของโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดย สสวท. มีลักษณะเป็นกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ประกอบด้วยกิจกรรม 11 กิจกรรม ดังนี้
- มือกลปริศนาท้าให้ประดิษฐ์
- กล้องตาเรือ
- คณิตศาสตร์ในผ้ามัดย้อม
- สุดยอดภูเขาไฟจอมประทุ
- หุ่นยนต์แมลงจอมซ่า
- แป้งมันประหลาด
- แม่เหล็ก
- ร่อนลงสู่ดวงจันทร์
- เกมคณิตคิดสนุก
- รถเฟืองมหาสนุก
- ทดสอบน้ำตาลในเครื่องดื่ม

เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสสวท. ได้ทดลองริเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ใช้ทรัพยากรรวมถึงแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยบูรณาการการเรียนรู้ที่หลากหลาย เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น สสวท. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านวิชาการแก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ขาดความพร้อมด้านต่างๆ โดย สสวท. ได้จัดการอบรมครูเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน และจัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ในปี 2559 สสวท. ได้จัดโครงการพัฒนาอย่างเร่งด่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นโรงเรียนนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันต่อไป

ผลผลิตของโครงการ
ครูในโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 20 คน ได้รับการพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จาก สสวท.
วิธีดำเนินการ
- ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว
- ประชุมปฏิบัติการอบรมครูโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว
- เยี่ยมและติดตามการจัดการเรียนการสอนของครูวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
- ตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้
- สนับสนุนสื่อและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์
- ประสานงานสนับสนุนการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สสวท. ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ แก่โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพิเศษ เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ขาดความพร้อมด้านต่าง ๆ โดยการพัฒนาครู ให้มีศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและจัดหาวัสดุ สื่อการเรียนการสอนพื้นฐานให้กับโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตามโรงเรียนเหล่านี้จะมีความเข้มแข็งทางวิชาการ จำเป็นต้องมีบุคลากรหลักของโรงเรียนที่จะเป็นผู้นำทางวิชาการใน การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น สสวท. ได้ตระหนักถึงความจำเป็น และความสำคัญจึงได้พัฒนาบุคลากรหลักด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แก่ครูในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ครูมีความรู้ ทักษะ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และสามารถนำไปใช้สอนในโรงเรียนได้ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลสัมฤทธิ์การเรียนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการ
ในปีงบประมาณ 2546-2559 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรหลักด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สำหรับครูในโรงเรียนโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตศึกษา สาขาการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษาและคณิตศาสตร์ศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ แก่ครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนในโครงการฯ ดังกล่าว ทุนละ 60,000 บาท/ปีการศึกษา เป็นระยะเวลา 2-3 ปีการศึกษาต่อเนื่อง
ผลผลิตของโครงการ
ครูที่สอนในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ ได้รับทุนจาก สสวท. ในการศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2546 – 2559 จำนวน 85 คน
วิธีการดำเนินงาน
- ประชาสัมพันธ์โรงเรียนในโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุน
- พิจารณาผู้ที่สมัครทุน จากการสอบคัดเลือก และประกาศผลผู้ได้รับทุน และผู้รับทุนทำสัญญากับ
ต้นสังกัด และต้นสังกัดแจ้ง สสวท. เพื่อขอรับทุนสนับสนุน
- สสวท. สนับสนุนเงินทุนๆ ละ 60,000 บาท/ปีการศึกษา เป็นระยะเวลา 2-3 ปีการศึกษา
เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง และสตูลนั้น ต้องคำนึงถึงบริบทอย่างรอบด้าน กล่าวคือ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทำให้มีวิถีชีวิตเฉพาะของท้องถิ่นอย่างมาก โรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีคะแนนการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ และผลประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาอยู่ในระดับพอใช้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและสื่อ เพื่อการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าว จึงริเริ่มดำเนินพัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพครูและบุคลากรทาง การศึกษาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์และพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน
ผลผลิตของโครงการ
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนสายสามัญ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง และสตูล จำนวน 60 โรงเรียน ได้รับการพัฒนาจาก สสวท.
วิธีการดำเนินงาน
- จัดทำร่างหลักสูตรอบรมครู
- ประชุมพิจารณาร่างหลักสูตรอบรมครู
- จัดทำต้นฉบับเอกสารอบรมครู
- ประชุมเตรียมวิทยากรแกนนำ
- ประชุมปฏิบัติอบรมครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนสายสามัญ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สสวท. อบรมครูโดยตรง (2554-2556)
สสวท. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อบรมครู (2558-2559)
- สรุปผลการดำเนินงาน

เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีความรู้ และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น
สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร จ.น่าน จ.สกลนคร จ.ตาก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอน ให้แก่ครูผู้สอนโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลผลิตของโครงการ
โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร จ.น่าน จ.สกลนคร จ.ตาก (สังกัด สพฐ.) ได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้
-
โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.น่าน เขต 2 30 โรงเรียน
-
โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.สกลนคร เขต 1,2 29 โรงเรียน
-
โรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร สพป. จ.ตาก เขต 2 40 โรงเรียน
รวม 99 โรงเรียน
เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีความรู้ และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น
สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอน ให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ผลผลิตของโครงการ
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้
- กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11-14 45 โรงเรียน
- กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21-24 48 โรงเรียน
- กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31-34 71 โรงเรียน
- กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41-44 42 โรงเรียน
รวม 206 โรงเรียน
เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีความรู้ และทักษะที่จะจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลที่คาดหวังไว้นั้น

สสวท. จึงได้พัฒนาบุคลากรหลักทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ภาคเหนือและ จ.ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอน ให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลผลิตของโครงการ
โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) ได้รับการพัฒนาจาก สสวท. ดังนี้
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 6 (น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย) 60 โรงเรียน
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 5 (เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) 41 โรงเรียน
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่ม 11 (จ.ศรีสะเกษ) 10 โรงเรียน
รวม 111 โรงเรียน
เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริว่า ปัจจุบันสภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กมีความยากลำบากหลายประการ เป็นต้นว่า นักเรียนมีพื้นฐานค่อนข้างต่ำ ขาดเป้าหมายทางการเรียน มีครูไม่ครบชั้น มีการย้ายครูบ่อย ครูขาดประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอนไม่พอเพียง ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดคำนวณไม่ได้มีอัตราสูง
ทั้งยังมีนักเรียนที่ต้องออกกลางคันในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีแนวพระราชดำริให้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ในวโรกาสที่จะเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ปี พ.ศ. 2558 นี้ มีพระราชประสงค์ให้จัดทำชุดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิชาหลักและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน สำหรับชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เล็งเห็นว่า สสวท. เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตรและการพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงได้ขอความร่วมมือในการจัดทำชุดการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนำทูลเกล้าถวายต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป
ผลผลิตของโครงการ
ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น เพื่อพัฒนาให้นักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติ ประกอบด้วยดังนี้
- ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 2 ช่วงชั้น ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 1 ชุด
ช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 1 ชุด
- ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 2 ช่วงชั้น ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 จำนวน 1 ชุด
ช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 1 ชุด

เขียนโดย neeranan ใน . โพสใน โครงการพระราชดําริฯ ภายในประเทศ.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และกลุ่มบริษัทบีกริมส์ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับปฐมวัยตามแนวทางโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โดย สสวท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ และมีทักษะพื้นฐานที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทยในการพัฒนาผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Networks) และวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น (Local Trainers) เพื่อให้วิทยากรเหล่านี้เป็นแกนหลักในการขยายผลการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามแนวทางของโครงการให้แก่ครูปฐมวัยในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางโครงการจึงได้ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น และยังเปิดโอกาสให้วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นได้แลกเปลี่ยนความรู้และจัดกิจกรรมวิชาการในงานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย อีกทั้งได้มีการจัดพิธีรับตราพระราชทานเพื่อให้ครูที่มีผลงานผ่านเกณฑ์ได้มารับตราบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี


ภาพ : การอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยสำหรับวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นจากโรงเรียนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล และพัทลุง)